ลักษณะชีวิตคริสเตียนที่ดำเนินชีวิต “สัมพันธ์สนิทกับคริสตจักรของพระคริสต์” (ชุมชนของพระเจ้า:เรียนรู้จากลักษณะคริสตจักรทั้งเจ็ด วว2:1-3:22)
ก้าวที่ 38 เรียนรู้จาก:คริสตจักรเมืองเอเฟซัส (วว2:1-7)
ก้าวที่ 39 เรียนรู้จาก:คริสตจักรเมืองสเมอร์นา (วว2:8-11)
ก้าวที่ 40 เรียนรู้จาก:คริสตจักรเมืองเปอร์กามัม (วว2:12-17)
ก้าวที่ 41 เรียนรู้จาก:คริสตจักรเมืองธิยาทิรา (วว2:18-29)
ก้าวที่ 42 เรียนรู้จาก:คริสตจักรเมืองซาร์ดิส (วว3:1-6)
ก้าวที่ 43 เรียนรู้จาก:คริสตจักรเมืองฟีลาเดลเฟีย (วว3:7-13)
ก้าวที่ 44 เรียนรู้จาก:คริสตจักรเมืองเลาดีเซีย (วว3:14-22)
ก้าวที่ 45 เรียนรู้จาก:ความสัมพันธ์ของพระเยซูคริสต์กับคริสตจักร
ก้าวที่ 46 เรียนรู้จาก: การรับรู้ของพระเยซูคริสต์ที่มีต่อคริสตจักร
ก้าวที่ 47 เรียนรู้จาก:ทัศนคติของพระเยซูคริสต์ต่อคริสตจักร
ก้าวที่ 48 เรียนรู้จาก:พระสัญญาของพระเยซูคริสต์ที่มีต่อคริสตจักร
ลักษณะชีวิตคริสเตียนที่ดำเนินชีวิต
“สัมพันธ์สนิทกับคริสตจักรของพระคริสต์”
(ชุมชนของพระเจ้า:เรียนรู้จากลักษณะ
คริสตจักรทั้งเจ็ด วว2:1-3:22)
ก้าวที่ 46 เรียนรู้จาก: การรับรู้ของพระเยซูคริสต์ที่มีต่อคริสตจักร
ตอนที่ 9 เรียนรู้จาก:การรับรู้ของพระเยซูคริสต์ต่อคริสตจักรทั้ง 7
1.คริสตจักรที่เมืองเอเฟซัส (วว2:2-3,6)
2.คริสตจักรเมืองสเมอร์นา (วว2:9)
3.คริสตจักรเมืองเปอร์กามัม (วว2:13)
4.คริสตจักรเมืองธิยาทิรา (วว2:19)
5.คริสตจักรเมืองซาร์ดิส (วว3:1,4)
6.คริสตจักรเมืองฟีลาเดลเฟีย (วว3:8,10)
7.คริสตจักรเมืองเลาดีเซีย (วว3:15-17)
โดย อ.กิจขจร ลิ่วเฉลิมวงศ์ (9 มิ.ย. 2020)
เบื้องหลังของการเรียนรู้เรื่องการรับรู้ของพระเยซูคริสต์ กับคริสตจักรทั้ง 7 จากพระธรรม วว2:1-3:22 มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าพระเยซูคริสต์ รู้จักคริสตจักรทั้ง 7 พระองค์มีความคิดเห็นอย่างไร
เราเห็นว่าพระเยซูคริสต์ชื่นชมสองคริสตจักร(2,6)ไม่ตำหนิเลย มีแต่หนุนใจให้ทำดีต่อไป พระเยซูคริสต์ตำหนิสองคริสตจักร(1,7)ที่อยู่ในสภาพอันตรายมากให้กลับใจใหม่แม้มีส่ิงดีมากมายแต่ร่วงหล่นจากความรักของพระเจ้า พระเยซูคริสต์ตักเตือนสามคริสตจักร(3,4,5) มีการประนีประนอมกับคำสอนเท็จ การทำบาป แม้พระองค์ชมเชยในส่วนที่ดีบ้างแต่ยังต้องกลับใจใหม่
โดยอ.ยอห์นได้รับการสำแดงจากพระเยซูคริสต์ ให้เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือม้วน และส่งไปให้คริสตจักรทั้งเจ็ด
(วว1:11) ตรัสว่า “สิ่งที่ท่านเห็นนั้นจงเขียนไว้ในหนังสือม้วน และส่งไปให้คริสตจักรทั้งเจ็ด คือคริสตจักรที่เมือง(1)เอเฟซัส เมือง(2)สเมอร์นา เมือง(3)เปอร์กามัม เมือง(4)ธิยาทิรา เมือง(5)ซาร์ดิส เมือง(6)ฟีลาเดลเฟียและเมือง(7)เลาดีเซีย”
เนื้อหาสำหรับตอนที่ 9 นี้เน้นพระเยซูคริสต์คิดเห็นอย่างไร หรือรู้จักกับคริสตจักรทั้ง 7 ว่าเป็นอย่างไร โดยท่านสามารถเรียนรู้เพื่อสำรวจตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินชีวิตของท่านกับพระเยซูคริสต์เป็นไปตามพระทัยพระเจ้าหรือไม่ และชุมชนของพระเจ้า หรือคริสตจักรท้องถิ่นที่ท่านผูกพันตัวได้ดำเนินพันธกิจเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้าหรือไม่ เพื่อเราจะเป็นผู้ชนะ ได้รับตามสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงสัญญาว่าจะให้เราได้รับในวันสุดท้าย
วว2:1,8,12,18; 3:1,7,14 “จงเขียนถึง ทูตสวรรค์ของคริสตจักรที่เมือง
เอเฟซัส,สเมอร์นา,เปอร์กามัม,ธิยาทิรา,ซาร์ดิส,ฟีลาเดลเฟีย และเลาดีเซีย
“ฑูตสวรรค์” อาจจะหมายถึง ฑูตสวรรค์ที่เป็นวิญญาณจริงๆก็ได้หรือเป็นผู้นำผู้ปกครอง หรือศิษยาภิบาลของคริสตจักรก็ได้ การแปลความให้ใช้บริบทของเนื้อหาเป็นตัวชี้วัดในการตัดสินใจอีกที บางคนก็เชื่อว่าเป็นฑูตสวรรค์จริงๆไม่ใช่หมายถึง ผู้นำหลักของคริสตจักร แต่ไม่มีทัศนไหนบอกว่า ฑูตสวรรค์ในคริสตจักรทั้งเจ็ดเป็นมนุษย์ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำเท่านั้น
วันนี้เราจึงมาเรียนรู้เรื่อง ลักษณะชีวิตคริสเตียนที่ดำเนินชีวิต
“สัมพันธ์สนิทกับคริสตจักรของพระคริสต์”
(ชุมชนของพระเจ้า:เรียนรู้จากลักษณะคริสตจักรทั้งเจ็ด วว2:1-3:22)
ตอนที่ 9 เรียนรู้จากการรับรู้ของพระเยซูคริสต์ต่อคริสตจักรทั้ง 7
1.คริสตจักรที่เมืองเอเฟซัส(วว2:2,3,6)
ข้อ 2“เรารู้จักความประพฤติของเจ้า รู้เรื่องการตรากตรำและความทรหดอดทนของเจ้า และรู้ว่าเจ้าไม่ยอมทนต่อพวกคนชั่ว เจ้าทดสอบพวกที่อ้างตัวว่าเป็นอัครทูต แต่ไม่ได้เป็น และเจ้าก็พบว่าพวกเขาโกหก 3เรารู้ว่าพวกเจ้ามีความทรหดอดทน และยอมทนเพราะนามของเรา และไม่ได้อ่อนระอา 6แต่ว่าเจ้ายังมีข้อดีอยู่ คือว่าเจ้าเกลียดชังความประพฤติของพวกนิโคเลาส์ที่เราเองก็เกลียดชัง
พระเยซูคริสต์มีคำชมเชยสำหรับผู้เชื่อที่เอเฟซัสอย่างน้อย 3 เรื่อง
1.1 ไม่ยอมทนต่อคนสอนผิด
“คําว่า รู้จัก” หมายถึง การเห็นที่กลายเป็นความรู้ เปรียบเทียบเหมือนพระเยซูคริสต์ทรงเห็นความจงรักภักดีที่แสดงออกมาเป็นการปฎิบัติ การรับใช้ พระองค์เห็นการงานที่พวกเขาทำ ผ่านการใช้แรงงานของพวกเขา พระองค์เห็นทั้งชีวิตและความประพฤติทั้งหมดด้วยไม่ใช่เพียงแค่การงานที่เขาทำ
ความอดทน เป็นการยอมแบกรับภาระจนกว่างานจะสำเร็จ ความอดทนในที่นี้ เป็นลักษณะของคนที่ไม่หวั่นไหวจากวัตถุประสงค์โดยตั้งใจของเขา และความภักดีศรัทธาความนับถือ แม้ต้องพบการทดลองและความทุกข์ทรมานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คำชมเชยนี้ถือว่ามีนำ้หนักมาก
ไม่ยอม ทนต่อพวกคนชั่ว (คือคนที่มีความคิด ความรู้สึก การแสดงออกไปในทิศทางผิด หรือชั่วร้าย ) หมายถึง การไม่ยึดมั่น ไม่ยึดถือ ไม่รับมาเพื่อแบก หรือไม่แบกบางสิ่งบางอย่างใส่ตัวเอง หรือไม่แบกสิ่งที่เป็นภาระ ในที่นี้น่าจะเป็นผู้นำที่สอนผิด “อัครฑูตโกหก” ไม่ได้หมายถึง อัครสาวก แต่หมายถึง ผู้เผยแพร่ศาสนาอันเป็นความหมายโดยทั่วไปที่ผู้เชื่อเมืองเอเฟซัสเข้าใจ สามารถแยกแยะระหว่างผู้สอนศาสนาปลอมกับพวกอัครสาวกแท้ได้
ประยุกต์ใช้ เมื่อผู้เชื่อต้องรับคำสอนจากผู้นำที่สอนผิด คงเป็นเรื่องที่นำความทุกข์ทรมานทุกข์ยากให้กับผู้เชื่ออย่างมาก เพราะอาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นการแตะต้องสิทธิอำนาจของผู้นำ แต่พระเยซูคริสต์บอกว่าผู้เชื่อทดสอบคำสอนว่าสอนผิดหรือไม่ หากสอนผิดต้องไม่นำมาปฎิบัติ
1.2 ยอมทนเพื่อพระนามพระเยซูคริสต์
เพราะนามของเรา (พวกเขาทรหดอดทน ยอมทน ไม่อ่อนระอา) แสดงว่าความเชื่อของคริสเตียนในเมืองเอเฟซัสเข้มแข็งมั่นคงในความเชื่อพระเยซูคริสต์ พวกเขาไม่เลิกเชื่อพระเยซูคริสต์เพราะปัญหาอุปสรรค ความทุกข์ยาก ลำบาก และการข่มเหงที่เกิดขึ้น
1.3 ไม่ยอมทนต่อพฤติกรรมผิดๆ (เกลียดชังพฤติกรรมผิด)
“เกลียดชังพวกนิโคเลาส์” ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจคำสอนของพวกนิโคเลาส์
มีการกล่าวถึง “พวกนิโคเลาส์” ก่อนหน้านี้ในจดหมายถึงคริสตจักรเมือง
เอเฟซัสใน วว2:6 ว่าพระเยซูทรงเกลียดชังความประพฤติของพวกเขา ลักษณะคำสอนของพวกเขา คือ สอนให้ใช้เสรีภาพในพระคุณพระเจ้าในทางที่ผิดและให้ประนีประนอมกับการทำตามเนื้อหนัง มี 2 ทฤษฎีที่พยายามอธิบายเรื่องนี้คือ
(ก) นิโคเลาส์คนนี้ คือ คนเดียวกับนิโคเลาส์ชาวเมืองอันทิโอกผู้เข้าจารีตศาสนายิวที่เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะมัคนายก 7 คนที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้แจกจ่ายอาหาร (กจ.6:5 – เนื่องจากมีคนยิวที่พูดกรีกร้องเรียนไปว่าไม่ได้รับแจกจ่ายอาหารอย่างเพียงพอ และนิโคเลาส์คนนี้เป็นชาวต่างชาติที่มาเข้าจารีตยิวและพูดกรีก) เขามีพื้นเพเป็นคนต่างชาติที่กลับใจมาเข้าศาสนายิวและเป็นคริสเตียน เขาอาจตั้งลัทธินอกรีตขึ้นมาจากรากฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ข้อสันนิษฐานนี้ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันที่หนักแน่นนัก
(ข) เป็นไปได้ว่าพวกนิโคเลาส์ คือ กลุ่มลัทธินอกรีตที่เข้ามาในคริสตจักรแล้วก็ไปในช่วงแรกของการตั้งคริสตจักร อย่างไรก็ตามในจดหมายถึงคริสตจักรทั้งเจ็ดมีการกล่าวถึงพวกสอนผิดแบบเดียวกันนี้ 3 ครั้ง (ที่สอนให้ล่วงประเวณีและกินอาหารที่บูชารูปเคารพ)
ในคำเตือนไปถึงคริสตจักรเมืองเอเฟซัส (2:6) คำเตือนถึงคริสตจักรเมืองเปอร์กามัม (2:14-16) และคำเตือนถึงคริสตจักรเมืองธิยาธิราเรื่องที่ทนฟัง
เยเซเบลผู้หญิงที่อ้างตัวเป็นผู้เผยวจนะ (2:20)
มีความเป็นไปได้อย่างมากที่คนสอนผิดเหล่านี้เป็นคนกลุ่มเดียวกันและอยู่ภายในคริสตจักรเอง ไม่ใช่คนภายนอกคริสตจักร แต่อาจจะรับอิทธิพลจากโลกภายนอกเขามาบิดเบือน หรือให้ประนีประนอมกับความเชื่อแท้ก็เป็นได้
พวกเขาอ้างเสรีภาพในทางที่ผิดและสนับสนุนให้คริสเตียนประนีประนอมกับการทำบาป
แต่พระเยซูคริสต์ชมเชยผู้เชื่อที่เมืองเอเฟซัส จากลักษณะที่เด่นชัดของพวกเขา ยึดมั่นในความเชื่อที่ถูกต้องในพระเยซูคริสต์ ยึดมั่นคำสอนที่ถูกต้องในพระเยซูคริสต์ ยึดมั่นในการประพฤติถูกต้องในพระเยซูคริสต์ พวกเขาไม่ยอมทนต่อพวกคนชั่ว ที่สอนผิด และมีพฤติกรรมผิดๆ แต่พวกเขาต้องกลับใจใหม่อยู่ดี จากการตกจากความรักดั้งเดิมต่อพระเจ้า ซึ่งเราจะเรียนครั้งต่อไป
2.คริสตจักรเมืองสเมอร์นา (วว2:9)
ข้อ 9“เรารู้เรื่องความยากลำบากและยากจนของเจ้า (แต่ว่าเจ้าก็มั่งมี) และ
รู้เรื่องการกล่าวร้ายของพวกที่อ้างตัวว่าเป็นยิวและไม่ได้เป็น แต่เป็นธรรมศาลาของซาตาน
“คําว่า รู้เรื่องความยากลำบาก” 2347. thlipsis (n) อ่านว่า (thlip’-sis) หมายถึง การกด , การกดด้วยความกดดัน , เปรียบเหมือนการกดขี่ข่มเหง ทำให้เกิดความยากลำบาก , ความกดดัน เปรียบเหมือนความรู้สึกที่อยู่ภายในในที่ถูกจำกัดให้ไม่มีทางออก ไม่มีทางหลบหนี
“คําว่า ยากจนแต่ว่าเจ้าก็มั่งมี” หมายถึง การชมเชย แม้ว่าผู้เชื่อในเมือง
สเมอร์นาจะอยู่ในฐานะยากจนฝ่ายกายภาพจริงๆ แต่จิตใจฝ่ายวิญญาณของพวกเขาเป็นคนมั่งมี
พระเยซูคริสต์เป็นแบบอย่างที่ยอมเป็นคนยากจนเพื่อให้ผู้เชื่อมั่งมี คำนี้ใช้ในพระคัมภีร์ใหม่แค่ 3 ครั้ง อีกสองครั้งอยู่ใน 2โครินธ์
2คร8:2,9 เพราะในขณะที่พวกเขาเผชิญการทดสอบมากมายจากความยากลำบากนั้น ความยินดีที่เต็มล้นและความยากจนอย่างที่สุดของพวกเขาได้ล้นออกมาเป็นใจกว้างขวางยิ่ง 9เพราะว่าท่านทั้งหลายรู้จักพระคุณของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราแล้วว่า แม้พระองค์ทรงมั่งคั่ง ก็ยังทรงยอมเป็นคนยากจนเพราะเห็นแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นคนมั่งคั่ง เนื่องจากความยากจนของพระองค์
“คําว่า รู้เรื่องการกล่าวร้าย” 988. blasphémia (n) อ่านว่า (blas-fay-me’-ah) หมายถึง คำพูดที่ทำร้ายชื่อเสียงดีของผู้อื่น เป็นการประกาศคำพิพากษา ตัดสินผู้อื่น โดยเต็มไปด้วยคำที่น่าตำหนิ
“ธรรมศาลาของซาตาน” หมายถึง สถานที่ หรือคน หรือที่ชุมนุมหรือ ที่รวมบรรดา ปฏิปักษ์ฝ่ายตรงข้าม , มาร
ดังนั้นเมื่อรวมความหมายของประโยคทั้งหมด น่าจะหมายถึง พระเยซูคริสต์รู้ว่าผู้เชื่อลำบาก มีความกดดันไม่มีทางออก จากผู้ข่มเหงจำนวนมาก ที่ตั้งตนเป็นศัตรู เป็นผู้ขัดขวาง โดยใช้คำพูดต่อว่า ตัดสิน ตำหนิ โดยทำให้ผู้เชื่อเสียชื่อเสียง ทั้งๆที่คนขัดขวางเหล่านั้นไม่ได้เป็นยิว แต่อ้างตัวเป็นยิวเพื่อข่มเหงผู้เชื่อให้ถึงความตาย
ความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่า คือว่าคริสตจักรที่เมืองสเมอร์นา ได้รับคำชมจากพระเยซูคริสต์ แม้ซาตานกล่าวหาทำให้ผู้เชื่อเสียชื่อเสียง
คริสตจักรและผู้เชื่อควรให้ความสำคัญของการดำเนินชีวิต โดยคำนึงว่าเราจะให้ความสำคัญกับใคร ระหว่างพระเยซูคริสต์กับมารซาน กับค่านิยมของโลกนี้ ให้ตระหนักว่าพระเยซูคริสต์ยังให้ความสนใจ เฝ้ามองดูชีวิตของเราอยู่ เราจะได้ดำเนินชีวิตเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า แม้จะเจอการข่มเหง หรือมีความยากลำบาก หรือแม้กระทั่งต้องเสียชีวิตเพราะความเชื่อ เราก็ยังเชื่อพระเยซูคริสต์
คริสตจักร และผู้เชื่อให้ความสำคัญสำหรับการสร้างชีวิตฝ่ายวิญญาณให้มั่นคงพร้อมรับการทดสอบ พร้อมผ่านการข่มเหงหรือไม่ กิจกรรมต่างๆของ คริสตจักร เวลาที่จัดสรรให้สำหรับรายการ การใช้งบประมาณ การจัดสรรทรัพยากรของคริสตจักร มีเป้าหมายเพื่อสร้างชีวิตฝ่ายวิญญาณให้มั่นคงในพระเยซูคริสต์ เพื่อผ่านการข่มเหงได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่เราน่าจะทบทวนดู
3.คริสตจักรเมืองเปอร์กามัม (วว2:13)
ข้อ 13.เรารู้จักที่อยู่ของเจ้า ที่ซึ่งเป็นบัลลังก์ของซาตาน (เปอร์กามัมที่ซึ่งเป็นบัลลังก์ของซาตาน,ที่ซึ่งซาตานอยู่ )
“คําว่า ที่นั่ง” 2362. thronos (n) อ่านว่า (thron’-os) มักถูกแปลเป็น ‘บัลลังก์’ คํานี้จึงอาจมีความหมายเชิงอุปมามากกว่า เป็นการสื่อถึงอิทธิพลของซาตานในศาสนาเทียมเท็จ
เป็นที่รู้กันในสมัยนั้นว่าตําแหน่งผู้นําของ ศาสนาลี้ลับของชาวบาบิโลนเดิม ซึ่งเป็นบ่อเกิดอันโสมมของศาสนาเทียมเท็จทั้งปวง ได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่เมืองเปอร์กามัมเพราะเหตุผลทางการเมืองของปลอมที่สร้างขึ้นโดยซาตานนี้ ส่งผลทําให้เมืองเปอร์กามัมกลายเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของมัน (เป็นเหมือนที่ตั้งของคณะรัฐบาลบริหารแผ่นดิน)และซาตานแผ่ขยายอิทธิพลอันดํามืดของมันไปทั่วชุมชนนั้นด้วย (จะย้ายถิ่นฐานไปยังกรุงโรมต่อไป)
พระเยซูบอกว่าผู้ครองโลกคือ มาร จึงเตือนอย่าให้รักโลก
ยน14:30 เราจะไม่สนทนากับพวกท่านนานอย่างนี้อีก เพราะว่าผู้ครองโลกกำลังจะมา ผู้นั้นไม่มีสิทธิอำนาจอะไรเหนือเรา
1ยน 2:15-16 อย่ารักโลกหรือสิ่งของในโลก ถ้าใครรักโลก ความรักของพระบิดาไม่ได้อยู่ในผู้นั้น 16 เพราะว่าทุกสิ่งที่อยู่ในโลก คือตัณหาของเนื้อหนังและตัณหาของตา และความทะนงในลาภยศไม่ได้มาจากพระบิดา แต่มาจากโลก
ความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่า คือว่าคริสตจักรที่เมืองเปอร์กามัม ตั้งอยู่ในเงามืดของศาสนาเทียมเท็จของซาตาน เป็นเมืองแห่งความ มืดฝ่ายวิญญาณ
คริสตจักรและผู้เชื่อควรให้ความสำคัญของการดำเนินชีวิตอย่ารักโลก อย่ารักสิ่งของวัตถุ ความสำเร็จ ชื่อเสียง เกียรติยศ เงินทอง หรือรักความสนุกสนานในโลก มากกว่ารักพระเจ้า
4.คริสตจักรเมืองธิยาทิรา (วว2:19)
19“เรารู้จักความประพฤติของเจ้า รู้เรื่องความรัก ความเชื่อ การปรนนิบัติ และความทรหดอดทนของเจ้า และรู้ว่าความประพฤติในตอนปลายนั้นดีกว่าตอนต้น
พระเยซูคริสต์มีคำชมเชยสำหรับผู้เชื่อที่ธิยาทิรา
4.1 รู้ว่าความประพฤติในตอนปลายนั้นดีกว่าตอนต้น
หมายถึง พระเยซูคริสต์รู้ว่าพวกเขามีพัฒนาการชีวิตฝ่ายวิญญาณที่เติบโตดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปมากขึ้น ในเรื่องความรัก ความเชื่อ แสดงออกมาเป็นการประพฤติ การรับใช้ ด้วยความทรหดอดทน
4.2 รู้ว่าความประพฤติดีมาจากท่าทีภายในที่ดี
รู้เรื่องความ ความเชื่อ ความทรหดอดทน (สิ่งเหล่านี้เป็นท่าทีภายใน ซึ่งคนทั่วไปอาจจะไม่รู้ แต่พระเยซูคริสต์รู้ท่าทีภายใน)
พระเยซูคริสต์ชมเชยผู้เชื่อที่เมืองธิยาทิรา จากการรับใช้ การประพฤติ ลักษณะการดำเนินชีวิตที่ดีเด่นชัดของพวกเขา มาจากท่าทีภายในที่รักพระเจ้า มีความเชื่อในพระเจ้า นี่เป็นสิ่งที่ดีของผู้เชื่อที่เมืองนี้ เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่มีแนวโน้มดียิ่งๆขึ้นไป
ประยุกต์ใช้ ผู้เชื่อต้องสำรวจท่าทีในใจที่แสดงออกเป็นพฤติกรรม หรือลักษณะชีวิต มีความรัก ความเชื่อในพระเจ้าหรือไม่ และมีพัฒนาการความรัก ความเชื่อ ในพระเจ้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อได้รู้จักพระเจ้ามากขึ้น
ไว้วางใจพระเจ้า ในการพิพากษา เพราะพระองค์ทรงรู้ความคิดภายในของทุกคน ระมัดระวังท่าทีให้ถูกต้องด้วยการอธิษฐาน ยำเกรงพระเจ้า
5.คริสตจักรเมืองซาร์ดิส (วว3:3,4)
วว3:วว3:1ข“ตรัสดังนี้ว่า “เรารู้จักความประพฤติของเจ้า คือเจ้าได้ชื่อว่ามีชีวิตอยู่ แต่ว่าเจ้าตายแล้ว
5.1 “คําว่า มีชีวิตอยู่ แต่ว่าเจ้าตายแล้ว ” 3498. nekros (adj) อ่านว่า (nek-ros’) หมายถึง ตายฝ่ายวิญญาณ เป็นความสิ้นหวังของชีวิตในการตระหนักและทุ่มเทเพื่อพระเจ้า เพราะยอมแพ้ต่อความบาป และการละเมิด ไม่ทำไม่ให้ความเคารพในสิ่งที่ถูกต้อง
ผู้เชื่อมองว่าตัวเองมีชีวิตกับพระเจ้า แต่พระเจ้าบอกว่าพวกเขาตายแล้วไม่ได้มีชีวิตกับพระองค์ พวกเขาไม่ได้มีความสัมพันธ์กับพระเยซูคริสต์ แต่พวกเขามีโอกาสตื่นขึ้นจากความตายในความสัมพันธ์ได้ มีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้
อฟ5:14เพราะว่าทุกๆ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็เป็นความสว่าง ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่าคนที่หลับอยู่ จงตื่นขึ้นและจงเป็นขึ้นจากตายแล้วพระคริสต์จะทรงส่องสว่างแก่ท่าน
ยก2:17 ทำนองเดียวกัน ลำพังความเชื่อ ถ้าไม่มีการปฏิบัติ ก็เป็นสิ่งที่ตายแล้ว
ประยุกต์ใช้ เปรียบเหมือนฝ่ายกายภาพดูดีมีความเจริญเติบโต มีชีวิตชีวาดีมาก แต่ฝ่ายจิตวิญญาณนั้นกลับตายแล้ว ไม่อยากเติบโตในความบริสุทธิ์ ในความชอบธรรมของพระเจ้า ไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะทำตามพระทัยของพระเจ้าอีกแล้ว ชีวิตทำบาป ขาดความสัมพันธ์กับพระเจ้าไปแล้ว
5.2 ดำเนินไปกับเราในชุดสีขาว
วว3:4แต่เจ้าก็ยังมีสองสามคนในเมืองซาร์ดิสที่ไม่ได้ทำให้เสื้อผ้าของตนเป็นมลทิน และพวกเขาจะดำเนินไปกับเราในชุดสีขาว
“คําว่า เสื้อผ้าของตนเป็นมลทิน” 3435. molunó (v) อ่านว่า (mol-oo’-no) หมายถึง ผู้ที่รักษาชีวิตของพวกเขาให้บริสุทธิ์จากมลทินแห่งความบาป รากศัพท์มาจากคำที่มีความหมายว่า เปื้อนดิน ทำให้สกปรก กลายเป็นวิญญาณที่สกปรกเปื้อนดิน
“ดำเนินไปกับเราในชุดสีขาวเพราะว่าพวกเขาเป็นคนที่คู่ควร(ภาษาเดิมแปลว่า ที่มีคุณค่า)” 514. axios (adj) อ่านว่า (ax’-ee-os) หมายถึง เป็นที่โปรดปรานของการรับเชิญ
ดังนั้นเมื่อรวมความหมายของประโยคทั้งหมด น่าจะหมายถึง ผู้เชื่ออย่าเข้าใจผิดคิดว่าตนเองมีชีวิตกับพระเจ้า ทั้งๆที่ตนเองดำเนินชีวิตในความบาป นั่นหมายถึง พวกเขาตายฝ่ายวิญญาณไปแล้ว แต่พระเยซูคริสต์ โปรปรานผู้เชื่อที่ดำเนินชีวิตไปกับพระองค์โดยการรักษาชีวิตให้บริสุทธิ์ ชอบธรรม เพราะเขาเป็นคนที่มีคุณค่าเป็นที่โปรดปรานของการรับเชิญให้เข้าแผ่นดินของพระองค์
วว4:4 และรอบพระที่นั่งนั้นมีบัลลังก์อีกยี่สิบสี่บัลลังก์ มีผู้อาวุโสยี่สิบสี่คนนั่งอยู่บนบัลลังก์เหล่านั้น ทุกคนสวมเสื้อผ้าสีขาวและสวมมงกุฎทองคำบนศีรษะของพวกเขา
วว3:18 เราแนะนำเจ้าให้ซื้อทองคำที่หลอมด้วยไฟจากเรา เพื่อเจ้าจะได้มั่งมี และให้ซื้อเสื้อผ้าสีขาว เพื่อจะได้สวมให้พ้นจากความอับอายที่ต้องเปลือยกาย และซื้อยาหยอดตาของเจ้า เพื่อเจ้าจะได้เห็น
วว7:9 หลังจากนั้นมา ข้าพเจ้าเห็น และนี่แน่ะ มหาชนที่ไม่มีใครนับจำนวนได้ ที่มาจากทุกประชาชาติ ทุกเผ่า ทุกชนชาติและทุกภาษา ยืนอยู่หน้าพระที่นั่งและเฉพาะพระพักตร์พระเมษโปดก พวกเขาสวมเสื้อผ้าสีขาว และถือใบตาลอยู่ในมือ
วว19:14 กองทัพทั้งหลายในสวรรค์นุ่งห่มผ้าป่านเนื้อละเอียด สีขาวสะอาด ขี่ม้าขาวตามเสด็จพระองค์ไป
พระเยซูคริสต์สอนเป็นเรื่องอุปมาผู้รับเชิญมางานเลี้ยงสมรสต้องแต่งตัวให้เหมาะสมกับผู้เชิญมางาน ไม่ใช่แค่มาร่วมงานโดยไม่เตรียมตัว
มธ22:11-14 “แต่เมื่อกษัตริย์องค์นั้นเสด็จไปทอดพระเนตรแขกทั้งหลาย ก็ทอดพระเนตรเห็นคนหนึ่งไม่ได้สวมเสื้อสำหรับงานอภิเษกสมรส 12จึงตรัสถามว่า ‘เพื่อนเอ๋ย ทำไมท่านมาที่นี่โดยไม่สวมเสื้อสำหรับงานอภิเษกสมรส?’ คนนั้นก็นิ่งอั้นอยู่พูดไม่ออก 13กษัตริย์จึงมีรับสั่งกับพวกคนรับใช้ว่า ‘จงมัดมือมัดเท้าคนนี้เอาไปโยนทิ้งบริเวณที่มืดข้างนอก ซึ่งเป็นที่มีการร้องไห้ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน’ 14เพราะว่าคนที่ได้รับเชิญก็มีมาก แต่คนที่ได้รับการทรงเลือกก็มีน้อย”
พระเยซูคริสต์ยกตัวอย่างผู้เชื่อที่คิดว่าตนเองรู้จักพระเยซูคริสต์ แต่พระองค์บอกไม่รู้จักพวกเขา เพราะเขาทำความชั่วแม้บอกว่ารับใช้พระองค์
มธ7:21-23 “ไม่ใช่ทุกคนที่เรียกเราว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า’ จะได้เข้าในแผ่นดินสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระทัยพระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์จึงจะเข้าได้ 22เมื่อถึงวันนั้นจะมีคนจำนวนมากร้องแก่เราว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์ได้เผยพระวจนะในพระนามของพระองค์ และได้ขับผีออกในพระนามของพระองค์ และได้ทำการแห่งฤทธานุภาพมากมายในพระนามของพระองค์ไม่ใช่หรือ?’ 23เมื่อนั้นเราจะกล่าวแก่พวกเขาว่า ‘เราไม่เคยรู้จักพวกเจ้าเลย เจ้าผู้ทำความชั่ว จงไปเสียให้พ้นหน้าเรา’
ความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่า คือว่าคริสตจักรที่เมืองซาร์ดิส (ไวยากรณ์รูปปัจจุบันสรรพนามบุคคลที่สองเป็นเอกพจน์ คือ you น่าจะหมายถึงชุมชนของพระเจ้า ที่เมืองซาร์ดิสซึ่งอาจจะไม่ได้หมายถึง ผู้เชื่อเพียงคนเดียวแต่หมายถึงทั้งชุมชน) คนส่วนมากในคริสตจักรเมืองซาร์ดินต้องปรับปรุง ต้องพัฒนาชีวิตฝ่ายวิญญาณ แต่ก็มีคนส่วนน้อยคือ สองสามคนที่ทำดีอยู่แล้ว พระเยซูคริสต์หนุนใจ ให้กำลังใจ ให้รักษาชีวิตในทางบริสุทธิ์ ในทางชอบธรรมต่อไป
คริสตจักรและผู้เชื่อควรให้ความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่ตามมาตรฐานของคนส่วนมาก คนสวมเสื้อสีขาวเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าผู้เชิญให้เข้าแผ่นดินของพระองค์ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าตนเองกลับใจใหม่จากบาปเชื่อพระเยซูคริสต์แล้วตนเองรอดแล้ว แต่พระคัมภีร์ตอนนี้พระเยซูคริสต์บอกว่าต้องดำเนินชีวิตกับพระเยซูคริสต์ต่อไปด้วย รักษาเสื้อสีขาวอย่าให้มีมลทิน อย่าให้มีดินมาเปื้อนด้วย
คริสตจักร และผู้เชื่อให้ความสำคัญสำหรับการสร้างชีวิตฝ่ายวิญญาณ คุณภาพฝ่ายวิญญาณ จริยธรรมฝ่ายวิญญาณ ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จทางฝ่ายโลก การมีวัตถุฝ่ายกายภาพมากมายเป็นต้น
6.คริสตจักรเมืองฟีลาเดลเฟีย (วว3:8,10)
วว3:8 เรารู้จักความประพฤติของเจ้านี่แน่ะ เราจัดวางประตูที่เปิดไว้ตรงหน้าพวกเจ้า ประตูนี้ไม่มีใครสามารถปิดได้รู้ว่าเจ้ามีกำลังเพียงเล็กน้อย แต่ถือรักษาคำของเรา และไม่ปฎิเสธ นามของเรา ข้อ10 เจ้าถือรักษาคำของเรา คือ มีความทรหดอดทน
พระเจ้าชมเชยคริสตจักรฟีลาเดลเฟียที่รักษาคำของพระองค์ด้วยการประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ปฎิเสธนามของพระองค์ ด้วยความทรหดอดทน ทั้งๆที่มีกำลังเพียงเล็กน้อย
“คําว่า ถือรักษา” มีความหมายว่า ฉันรักษา ฉันเป็นยามปกป้อง ฉันสังเกต ฉันเฝ้าดู ในที่นี้หมายถึง ถือรักษาจนถึงที่สุด ถือรักษาจนจบไม่ว่าจะเป็นคำของพระเจ้า หรือพระเยซูคริสต์
มธ28:20และสอนพวกเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดที่เราสั่งพวกท่านไว้ และนี่แน่ะ เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค”
“คําว่า ไม่ปฎิเสธนามของเรา” มีความหมายว่า สาวกของพระเยซูคริสต์ ไม่กลัวความตายหรือการข่มเหงจนถึงความตาย พวกเขาไม่ปฎิเสธนามของพระเยซูคริสต์ในฐานะที่พระองค์เป็นจอมเจ้านายของพวกเขา ดังนั้นนามของพระเยซูคริสต์ไม่ใช่สาเหตุที่พวกเขาปฎิเสธหรือละทิ้งความเชื่อ
มธ10:32-33 “เพราะฉะนั้นทุกคนที่จะรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ 33แต่ผู้ใดจะไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราก็จะไม่ยอมรับผู้นั้นเฉพาะพระพักตร์พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ด้วย
ถ้าเราอ่านดีๆเราจะพบว่า ในวว3:8 พระเจ้าเปิดประตูที่เปิดไว้ให้พวกเขา พวกเขาก็เหมือนยามที่ยืนอยู่หน้าประตูนี้ ทั้งๆที่ไม่มีใครปิดประตูนี้ได้ แต่พวกเขาก็พยายามใช้กำลังที่มีเพียงเล็กน้อยไม่ให้ใครมาปิดประตู การทำแบบนี้พระเจ้าบอกว่า คือ การรักษาคำของพระองค์ และไม่ปฎิเสธนามของพระองค์ ที่บริสุทธิ์ และสัตย์จริง เป็นนามแห่งความรอด ที่เข้าแผ่นดินของพระเจ้า ผ่านนามของพระเยซูคริสต์ พระองค์เป็นประตูแห่งความรอดนั่นเอง
วว 4:1หลังจากนั้นข้าพเจ้าเห็นประตูที่เปิดอ้าอยู่ในสวรรค์ และพระสุรเสียงแรกที่ข้าพเจ้าได้ยินนั้น ตรัสกับข้าพเจ้าเหมือนอย่างเสียงแตรว่า “จงขึ้นมาบนนี้เถิด และเราจะสำแดงให้เจ้าเห็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นหลังจากนี้”
พระเยซูสอนให้เข้าประตูแห่งแผ่นดินพระเจ้าแม้ว่าจะพบความยากลำบาก
ลก13:24 “จงเพียรพยายามเข้าไปทางประตูที่คับแคบ เราบอกท่านทั้งหลายว่า แม้คนจำนวนมากพยายามจะเข้าไป แต่จะเข้าไม่ได้
พระเยซูคริสต์เป็นประตูแห่งแผ่นดินของพระเจ้า รับความรอดทางพระองค์
ยน10:7-9พระเยซูจึงตรัสกับพวกเขาอีกว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า เราเป็นประตูของแกะทั้งหลาย 8ทุกคนที่มาก่อนเรานั้นเป็นขโมยและโจร แต่ฝูงแกะไม่ได้ฟังพวกเขา 9เราเป็นประตู ถ้าใครเข้าไปทางเรา คนนั้นจะรอด เขาจะเข้าออกแล้วก็จะพบอาหาร
7.คริสตจักรเมืองเลาดีเซีย (วว3:15-17)
วว3:15-17 “เรารู้จักความประพฤติของเจ้า คือว่าเจ้าไม่เย็นและไม่ร้อน เราอยากให้เจ้าเย็นหรือร้อน 16เพราะว่าเจ้าเป็นแต่อุ่นๆ ไม่ร้อนและไม่เย็น เราจะคายเจ้าออกจากปากของเรา 17เพราะเจ้าพูดว่า ‘ข้าเป็นเศรษฐีและข้าร่ำรวยแล้ว ข้าไม่ต้องการสิ่งใดเลย’ เจ้าไม่รู้ว่าเจ้าเป็นคนน่าสมเพช น่าสังเวช เจ้ายากจน ตาบอด และเปลือยกาย
7.1 ให้ดำเนินชีวิตตามพระวจนะไม่ใช่ตามความคิดตนเอง
17เพราะเจ้าพูดว่า ‘ข้าเป็นเศรษฐีและข้าร่ำรวยแล้ว ข้าไม่ต้องการสิ่งใดเลย’ เจ้าไม่รู้ว่าเจ้าเป็นคนน่าสมเพช น่าสังเวช เจ้ายากจน ตาบอด และเปลือยกาย
“ส่ิงที่เขามองตนเองกับที่พระเจ้ามองเขาช่างแตกต่างกันอย่างมาก”
ผู้เชื่อมองว่าตัวเองมีชีวิตที่ดูดีมาก แต่พระเจ้าบอกว่าพวกเขาน่าสมเพช น่าสังเวช ยากจน ตาบอด และเปลือยกาย เขาคิดผิดไปจากที่พระเจ้าคิด
พวกเขาไม่ได้มีความสัมพันธ์กับพระเยซูคริสต์ แต่พวกเขามีโอกาสรักษาตาที่มืดบอดได้ มีโอกาสเริ่มต้นสามัคคีธรรมใหม่กับพระเยซูคริสต์ได้
ประยุกต์ใช้ เปรียบเหมือนคนที่มีความพอใจในฝ่ายกายภาพมากกว่าความพอใจในฝ่ายวิญญาณ ฝ่ายกายภาพดูดีมีความเจริญเติบโต มีชีวิตชีวาดีมาก แต่ฝ่ายจิตวิญญาณนั้นกลับตายแล้ว พอใจแล้ว ไม่อยากสามัคคีธรรมกับพระเจ้า ไม่มีใจกระตือรือล้นสำหรับการดำเนินชีวิตกับพระเจ้า ไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่จะทำตามพระทัยของพระเจ้าอีกแล้ว ชีวิตทำตามความคิด ตามความต้องการของตนเอง โดยขาดการสามัคคีธรรมกับพระเจ้าไปแล้ว
7.2 ให้ดำเนินชีวิตด้วยความกระตือรือร้น
15เรารู้จักความประพฤติของเจ้า คือว่าเจ้าไม่เย็นและไม่ร้อน เราอยากให้เจ้าเย็นหรือร้อน 16เพราะว่าเจ้าเป็นแต่อุ่นๆ ไม่ร้อนและไม่เย็น เราจะคายเจ้าออกจากปากของเรา
“เจ้าเป็นแต่อุ่น” หมาย ถึงไม่กระตือรือร้น ใช้เพียงครั้งเดียวในข้อนี้ อุปมาเหมือนสภาพฝ่ายวิญญาณที่ชั่วร้าย ผันผวนอยู่ระหว่างความรักรุนแรง กับความเฉยชา ด้านชา การหมดความรู้สึก (เย็นชาในการนมัสการ ในการรับใช้ ไม่สามารถให้ความชุ่มชื่นกับคนที่กระหายฝ่ายวิญญาณได้)
“นี่เป็นอาการของคนไม่กระตือรือร้น” 2206. zéloó (v) อ่านว่า (mol-oo’-no) การสร้างคำนี้ เกิดจาก เสียงของน้ำที่ต้มเดือด เกิดฟองเพราะน้ำถูกต้มเดือดมาจากความร้อน หมายถึง กระตือรือร้นในการดำเนินชีวิตตอบสนองตามพระวจนะ กระตือรือร้นในการสามัคคีธรรม ในการใช้เวลาส่วนตัวกับพระเจ้า ไม่ใช่พอใจกับความสบาย ความมั่งคั่ง หรือพอใจกับโลกนี้ พระเจ้าจูงใจผู้เชื่อที่เลาดีเซียให้กระตือรือร้นที่จะทำดี ให้ทำสิ่งที่ดีตามที่พระเจ้าว่าดี
“เราจะคายเจ้าออกจากปากของเรา ใช้เพียงครั้งเดียวในพระคัมภีร์ หมายถึง แสดงการปฎิเสธอย่างเต็มที่ ปฎิเสธด้วยความรังเกียจอย่างยิ่ง แสดงว่าคนที่มีลักษณะชีวิตแบบนี้ไม่รักพระเจ้าอย่างร้อนรน แต่พอใจกับความสบายๆ อาจจะจะถูกขับออก ถูกไล่ออก ถูกปฎิเสธจากพระเจ้า
ยูดาส ไม่ได้รับมหาสนิท ไม่ได้รับพันธสัญญาใหม่ แม้พระเยซูคริสต์ได้ตักเตือนเขาให้กลับใจใหม่หลายครั้ง ในวันที่พระเยซูคริสต์เป็นขึ้นจากความตาย ยูดาสก็ไม่ได้อยู่ตอนพระเยซูคริสต์มาหาสาวก
สาวกอีกคนชื่อ“โธมัส”ก็ไม่ได้อยู่วันที่พระเยซูคริสต์เป็นขึ้นจากความตายและมาปรากฎกับพวกสาวก แต่ความต่างของยูดาสกับโธมัส คือ พระเยซูคริสต์มาหาโธมัสอีกครั้งเป็นการให้โอกาสเขา และเขาได้กลับใจใหม่ตอบสนองพระองค์เช่นกัน
ดังนั้นเมื่อรวมความหมายของประโยคทั้งหมด น่าจะหมายถึง ผู้เชื่ออย่าเข้าใจผิดคิดว่าตนเองมีชีวิตกับพระเจ้า ทั้งๆที่ตนเองดำเนินชีวิตไม่มีความรักร้อนรนพระเจ้า นั่นหมายถึง ผู้เชื่ออาจจะถูกปฎิเสธหากเขาไม่รักษาความรักที่มีต่อพระเยซูคริสต์ ไม่รักษาความสัมพันธ์กับพระเจ้าในการดำเนินชีวิต
มธ7:21,23“ไม่ใช่ทุกคนที่เรียกเราว่า ‘องค์พระผู้เป็นเจ้า’ จะได้เข้าในแผ่นดินสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระทัยพระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์จึงจะเข้าได้ 23เมื่อนั้นเราจะกล่าวแก่พวกเขาว่า ‘เราไม่เคยรู้จักพวกเจ้าเลย เจ้าผู้ทำความชั่ว จงไปเสียให้พ้นหน้าเรา’
คริสตจักรและผู้เชื่อควรให้ความสำคัญของการดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของพระเยซูคริสต์เพราะพระองค์เป็นพระอาเมน มีความซื่อสัตย์และสัตย์จริง แม้พระองค์ต่อว่าจักเตือนให้กลับใจใหม่ พระองค์ไม่โกหก อย่าใช้มาตรฐานของคนส่วนมากแต่ให้ใช้มาตรฐานของพระเจ้า อย่าประมาทเรื่องความรอด
คริสตจักร และผู้เชื่อให้ความสำคัญสำหรับการสร้างชีวิตฝ่ายวิญญาณ คุณภาพฝ่ายวิญญาณ จริยธรรมฝ่ายวิญญาณ ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จทางฝ่ายโลก การมีวัตถุฝ่ายกายภาพมากมายเป็นต้น
คริสตจักรเลาดีเซียเป็นคริสตจักรเพียงแห่งเดียวที่ไม่มีคำชมเลย มีแต่คำตำหนิ ตักเตือน ทั้งๆที่ภายนอกดูดีมากในสายตาคนทั่วไป หรือตามค่านิยมของโลกนี้
กล่าวโดยสรุป
1.คริสตจักรที่เมืองเอเฟซัส
พวกนิโคเลาส์ที่เราเองก็เกลียดชัง – อ้างเสรีภาพให้ประนีประนอมทำบาป
2.คริสตจักรเมืองสเมอร์นา
เจ้ามั่งมี – ฝ่ายวิญญาณ แม้กายภาพยากจน
เป็นธรรมศาลาของซาตาน – ที่รวมของบรรดาฝ่ายมาร
3.คริสตจักรเมืองเปอร์กามัม
บัลลังก์ของซาตาน – อิทธิพลของซาตานในศาสนาเทียมเท็จ
4.คริสตจักรเมืองธิยาทิรา
ความประพฤติในตอนปลายนั้นดีกว่าตอนต้น – มีพัฒนาการชีวิตฝ่ายวิญญาณที่เติบโตดีขึ้น
5.คริสตจักรเมืองซาร์ดิส
มีชีวิตอยู่แต่ตายแล้ว – ตายฝ่ายวิญญาณ ยอมแพ้ต่อความบาป
ชุดสีขาว – รักษาชีวิตให้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า
6.คริสตจักรเมืองฟีลาเดลเฟีย
ประตูที่เปิดไว้– พระเยซูคริสต์เป็นนามแห่งความรอด เป็นประตูแห่งความรอ ด เป็นประตูทางเข้าแผ่นดินของพระเจ้า
7.คริสตจักรเมืองเลาดีเซีย
เราจะคายเจ้าออก – แสดงการปฎิเสธอย่างเต็มที่ ปฎิเสธด้วยความรังเกียจ
ขอพระเจ้าอวยพรท่าน ให้เราร่วมใจกันอธิษฐาน
สนใจติดต่อเรา
www.facebook.com/FORWARD.CH.TH
Email: actsministry2017@gmail.com